ผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
จากผลการประเมิน พบว่านักเรียนที่เข้ารับการทบทวน เสริมความรู้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความสามารถในการคิดคำนวณเพิ่มขึ้น ใช้เวลาคิดน้อยลง มีสัมมาคารวะ ทำงานเป็นทีม มีความสามัคคี มีความรับผิดชอบ ตั้งใจเรียน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความสามารถในการอ่าน การสื่อสารภาษาอังกฤษ กล้าแสดงออก มีความสามารถในการคิดคำนวณการแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ เข้าใจเนื้อหาวิทยาศาสตร์ รู้จักคิดวิเคราะห์มากขึ้น มีความพร้อมในการเรียนรู้เนื้อหาตามตัวชี้วัดชั้นปี เกิดความสามัคคี มีความรับผิดชอบ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง อีกทั้งเป็นการฝึกทักษะการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอย่างกว้างขวาง และการใช้ทักษะการสื่อสารของผู้ดำเนินกิจกรรมอีกด้วย
การดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวัง
ครูแกนนำและนักเรียนแกนนำ เป็นผู้ดำเนินงานกิจกรรมตามคุณธรรมอัตลักษณ์ นั่นคือ ครูทุกคนเป็นที่ปรึกษาโครงงานคุณธรรม สภานักเรียน ซึ่งที่นี่ตั้งเป็น “รัฐบาลเยาวชนอาสา” ทำหน้าที่เป็นแกนนำดำเนินกิจกรรมตามคุณธรรมอัตลักษณ์ทุกด้าน และทำหน้าที่นิเทศ ติดตามการทำกิจกรรม “โครงงานหนึ่งห้องเรียน หนึ่งโครงงานคุณธรรม” มาอย่างต่อเนื่องจนเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนนราสิกขาลัย
ในปีการศึกษา 2565 เน้นกิจกรรมลดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ทุกระดับชั้น ร่วมกันเสริมความรู้ สมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้เกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูความรู้ ความสามารถและพฤติกรรมดีๆ ที่จางหายไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า โควิด 19 ที่ไม่สามารถมาเรียน ณ สถานศึกษาได้เป็นเวลานาน คณะรัฐบาลเยาวชนอาสาร่วมกันคิดหาวิธีการช่วยเหลือกันอย่างมีขั้นตอนดังนี้
- ประชุมปรึกษาหารือร่วมกับครูที่ปรึกษา
- เสนอปัญหาด้านการเรียนที่เกิดกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเข้ามาใหม่ และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ในรอบ 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา
- พิจารณาเลือกปัญหาที่สามารถแก้ไขได้โดยคณะรัฐบาลเยาวชนอาสานักเรียนแกนนำและอาสาสมัคร
- กำหนดเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่จะทบทวนเสริมความรู้
- แบ่งกลุ่มรับผิดชอบตามหัวข้อเนื้อหาสาระการเรียนรู้
- เนื้อหา ศึกษาค้นคว้าหาความรู้และวิธีการทบทวนเสริมความรู้
- ประชาสัมพันธ์โครงงานหน้าแถวเคารพธงชาติ 2 โครงงาน
- “คณิตสู้ ชีวิตสู้” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
- “สื่อต่อความรู้จากพี่สู่น้อง” ทบทวนเสริมความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
- รับสมัครนักเรียนเข้ารับการทบทวนเสริมความรู้
- นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เข้าร่วมจำนวน 15 คน
- นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เข้าร่วมจำนวน 20 คน
- ดำเนินการจัดการทบทวนความรู้
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จัดการให้ความรู้ 5 ฐาน ได้แก่ ฐานการบวก ฐานการลบ ฐานการคูณ ฐานการหาร และฐานสมการพื้นฐาน จัดนักเรียนเป็นกลุ่ม 5 กลุ่ม เรียนรู้ทุกฐานจนครบทั้ง 5 ฐานการเรียนรู้
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รุ่นพี่ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอนเสริมเติมเต็มและทบทวนความรู้ในเนื้อหาสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จนเข้าใจสามารถเรียนรู้ตามตัวชี้วัดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้
- ประเมินผลการเรียนรู้และพฤติกรรมโดยการทำแบบทดสอบใช้แบบสังเกตพฤติกรรม และการแสดงความคิดเห็น
การดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวัง
เมื่อก้าวย่างสู่รั้วโรงเรียนนราสิกขาลัย สัมผัสได้ถึงภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สะอาด ร่มรื่น สวยงาม มีสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม มีห้องสื่อเสริมสร้างคุณธรรมที่นำให้เกิดแนวทางการปฏิบัติชัดเจน มีลานอเนกประสงค์ให้ได้ออกกำลังกาย ผ่อนคลายความตึงเครียดเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียน มีสมาธิในการเรียน มีคำขวัญคุณธรรม ตารางคุณธรรมอัตลักษณ์ประจักษ์ชัดทั่วทั้งบริเวณ ประกอบกับกิริยามารยาทอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะของนักเรียนแสดงถึงความเป็นโรงเรียนคุณธรรมที่ไม่เคยหยุดยั้งการพัฒนา บรรยากาศทางกายภาพที่งดงามเช่นนี้เกิดจากการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามระดับชั้น ช่วยกันดูแลภูมิทัศน์โรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง
ภาพกิจกรรม






การดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวัง
การบูรณาการคุณธรรมในสาระการเรียนรู้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและกิจกรรมต่างๆ เป็นวิธีการสำคัญในการเสริมสร้างคุณธรรม โรงเรียนใช้วิธีการที่น่าสนใจ ดังนี้
- การบูรณาการคุณธรรมสู่ห้องเรียน โดยการกำหนดคุณธรรมอัตลักษณ์ในแผนการจัดการเรียนรู้ ครูผู้สอนนำคุณธรรมอัตลักษณ์หรือพฤติกรรมบ่งชี้เชิงบวกสอดแทรกในกิจกรรมการเรียนการสอน อาจจะอยู่ในขั้นนำเข้าสู่บทเรียนหรือขั้นสรุปหรือสอดแทรกในขั้นสอน ตามบริบทของรายวิชา
- การบูรณาการสู่กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและกิจกรรมต่างๆ เช่น การสร้างวินัยในการเข้าแถวเคารพธงชาติ กิจกรรมหน้าเสาธง การตรงต่อเวลาในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การฝึกความรับผิดชอบและการมีวินัยจากการปฏิบัติกิจกรรมจริยธรรม
- การประกาศความดีของนักเรียนที่ทำความดี เช่น นักเรียนที่มาเข้าแถวทุกวัน นักเรียนที่สวมหมวกกันน็อค เป็นต้น
- การนำผลการประเมินกิจกรรมหนึ่งห้องเรียน หนึ่งโครงงานคุณธรรม มาประกอบการตัดสินผลการเรียนรายวิชาหน้าที่พลเมืองและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และสาธารณประโยชน์ทุกระดับชั้น
- จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยจัดตลาดนัดโครงงานคุณธรรม ภาคเรียนละ 1 ครั้ง
การบูรณาการคุณธรรมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และกิจกรรมต่างๆ เช่นนี้ เป็นวิธีการเสริมสร้างคุณธรรมที่สามารถดำเนินการได้อย่างง่ายๆ ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ภาพกิจกรรม






ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ผู้บริหาร ใช้กระบวนการบริหารอย่างมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายงานเสริมสร้างคุณธรรมตามบทบาทหน้าที่ ภาระงานที่รับผิดชอบ ภายใต้คุณธรรมอัตลักษณ์ “ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความมีวินัย จิตอาสา ความพอเพียง” และส่งเสริมด้านความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และสัมมาคารวะ เกิดโครงงานดีๆ ที่น่าสนใจ เช่น โครงงานคนดี ศรีนราสิกขาลัย เทิดไท้องค์ราชันย์ ของฝ่ายบริหาร โครงงานวินัยดี เริ่มที่ตนเอง ของฝ่ายวิชาการ โครงงานจิตอาสา พัฒนาจิตใจ ของฝ่ายบุคคล โครงงานของของใคร ใครก็รัก ของฝ่ายงบประมาณ โครงงานอยู่อย่างพอเพียง เคียงคู่คุณธรรม ของฝ่ายบริหารทั่วไป จะเห็นได้ว่า ภาวะผู้นำของผู้บริหาร เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ครูแกนนำและนักเรียนแกนนำที่เข้มแข็งยังเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาคุณธรรมในสถานศึกษา
ภาพกิจกรรม









