โรงเรียนชุมชนบ้านโพธิ์สองห้องวิทยา

เลขที่ 149 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
ดูแผนที่

ภูมิภาค

ภาคอีสาน

ระดับชั้นที่เปิดสอน

ขยายโอกาส

นิเทศอาสา

อ.วิไลวรรณ ชูรัตน์, อ.วิไลลักษณ์ ชูสกุล
ความสำเร็จที่โดดเด่นด้านที่ 1 : โครงงานสร้างเครือข่าย ขยายความดี (การพัฒนานักเรียนแกนนำและครูแกนนำ และการขยายเครือข่าย)

ผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

  1. นักเรียนแกนนำ มีความรู้ความเข้าใจหลักการและกระบวนการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม นำหลักการและกระบวนการ (4 + 6 โมเดล) มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
  2. คณะกรรมการสภานักเรียน เป็นทีมแกนนำหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณธรรมภายในโรงเรียน มีศักยภาพการเป็นผู้นำในการทำงานสูง สามารถจูงใจ โน้มน้าวให้นักเรียนในโรงเรียนร่วมมือกันปฏิบัติกิจกรรมคุณธรรมอย่างเป็นกิจวัตรประจำวัน
  3. ทีมนักเรียนแกนนำเข้มแข็ง (แกนนำหลัก) และทีมนักเรียนแกนนำสำรอง (แกนนำประจำห้องเรียน) เข้าใจบทบาทหน้าที่ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณธรรมในโรงเรียน และสามารถขยายเครือข่ายร่วมพัฒนาได้อย่างเห็นผล
  4. โรงเรียนเพิ่มวิธีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่นักเรียนแกนนำและครูแกนนำ
  5. ครูแกนนำและนักเรียนแกนนำ มีความพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาคุณธรรม
  6. นักเรียนแกนนำและครูแกนนำ สามารถดำเนินการจัดกิจกรรม “ค่ายคุณธรรม” ทั้งในสถานที่และนอกสถานที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  7. มีการขยายเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรมให้กับโรงเรียนที่สนใจร่วมพัฒนา โดยใช้กิจกรรม  ค่ายคุณธรรม 1 วัน
  8. มีโรงเรียนเครือข่ายสนใจร่วมพัฒนาคุณธรรม ทั้งมาศึกษาดูงาน ร่วมสังเกตการณ์ทำกิจกรรมค่ายคุณธรรม และฝึกนักเรียนแกนนำโดยร่วมเข้าค่ายคุณธรรมนอกสถานที่

การดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวัง

การพัฒนานักเรียนแกนนำ 

  1. พัฒนานักเรียนแกนนำ โดยจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่การเป็นแกนนำ  ฝึกจัดกิจกรรมโครงงานคุณธรรม ตามวิธีการของสถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม
  2. นักเรียนแกนนำประกอบด้วย 
    • คณะกรรมการสภานักเรียน
    • ตัวแทนนักเรียนที่เป็นแกนนำแต่ละห้อง
  3. จัดแบ่งคณะทำงาน พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงานขับเคลื่อนพัฒนาคุณธรรมในโรงเรียน
    • นักเรียนแกนนำทีมเข้มแข็ง (แกนนำหลัก)
    • นักเรียนแกนนำทีมสำรอง (แกนนำประจำห้องเรียน)
  4. นักเรียนแกนนำทีมเข้มแข็ง จะเป็นผู้นำในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน  โดยมีนักเรียนแกนนำทีมสำรองคอยเสริมการปฏิบัติกิจกรรมในชั้นเรียน
  5. นักเรียนแกนนำทีมเข้มแข็ง ศึกษาเรียนรู้วิธีการจัดการค่ายคุณธรรม ทั้งในสถานที่และนอกสถานที่ โดยปฏิบัติงานร่วมกับครูแกนนำหลักจัดค่ายคุณธรรมเพื่อขยายเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรม ร่วมเป็นวิทยากรค่าย จัดกิจกรรมนันทนาการ ร่วมกิจกรรมกลุ่มกับนักเรียนแกนนำของโรงเรียนที่มาเข้าค่ายอบรม

การพัฒนาครูแกนนำ

  1. จัดอบรมครูแกนนำใหม่และครูแกนนำเดิม เพื่อทบทวนความเข้าใจในหน้าที่การเป็นผู้นำการขับเคลื่อนพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มุ่งปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนให้เกิดผล
  2. แต่งตั้งคณะทำงาน โดยแบ่งครูแกนนำออกเป็น 3 ทีมดังนี้
    • ครูแกนนำหลัก (ผู้บริหารเป็นผู้นำ และครูแกนนำที่ผ่านการอบรม 3 คน)
    • ครูแกนนำเสริม (ครูแกนนำใหม่ 2 คน)
    • ครูแกนนำสร้าง (ครูทุกคน เน้นปลูกฝังคุณธรรมในขั้นเรียน)
  3. กำหนดหน้าที่รับผิดชอบ และบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณธรรม
    • ผู้บริหารโรงเรียนร่วมเป็นครูแกนนำหลัก มอบนโยบายการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนา สนับสนุนงบประมาณและปัจจัยที่เอื้อต่อการดำเนินงาน ตลอดจนให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ไขปัญหาอันอาจเกิดขึ้น
    • ครูแกนนำหลัก และครูแกนนำเสริม ร่วมกันวางแผนปฏิบัติงาน ประสานความร่วมมือกับครูแกนนำสร้าง และนักเรียนแกนนำในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ติดตามประเมินผลการทำงานของนักเรียนแกนนำและนักเรียนทุกคน
    • ครูแกนนำหลัก และครูแกนนำเสริม ร่วมเป็นผู้นำวิทยากรจัดค่ายคุณธรรม
    • ครูแกนนำสร้าง กำกับดูแลการปฏิบัติงานโรงงานระดับชั้นเรียน และสอดแทรกการปลูกฝังคุณธรรมในกิจกรรมการเรียนการสอน
    • ร่วมกันกำหนดวิธิการติดตาม และประเมินผล

ขยายเครือข่ายด้วยค่ายคุณธรรม

โรงเรียนแหล่งเรียนรู้มีโครงการขยายเครือข่าย โดยการจัดค่ายคุณธรรมให้กับโรงเรียนที่สนใจร่วมพัฒนา โดยโรงเรียนที่สนใจจะรวมกลุ่มกันจัดค่ายคุณธรรมนอกสถานที่ มีครูแกนนำและนักเรียนแกนนำของโรงเรียนชุมชนบ้านโพธิ์สองห้องวิทยา เป็นผู้จัดการค่าย เป็นวิทยากรดำเนินกิจกรรมต่างๆ เน้นการจัดค่าย  1 วัน

  • นักเรียนแกนนำทีมเข้มแข็ง ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น
    • เป็นพิธีกร
    • กิจกรรมนันทนาการ
    • กิจกรรมละลายพฤติกรรม
    • กิจกรรมร่วมคิด ออกแบบโครงงานคุณธรรม
    • กิจกรรมสร้างแผนผังความคิด
    • กิจกรรมนำเสนอผลงานกลุ่ม
  • ครูแกนนำหลักและครูแกนนำเสริม
    • เป็นวิทยากรให้ความรู้ ความเป็นมาของการเข้าร่วมโครงการกับสถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม  มูลนิธิยุวพัฒน์ ให้ความรู้ หลักการและกระบวนการ  4 + 6 โมเดล
    • วิธีการออกแบบโครงงานคุณธรรม
    • แนวทางการพัฒนาคุณธรรมในโรงเรียน
    • ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานกิจกรรมจัดค่ายคุณธรรม
  • โรงเรียนที่เป็นเครือข่ายร่วมพัฒนาคุณธรรม ทั้งศึกษาดูงานและร่วมเข้าค่ายคุณธรรม ดังนี้
    1. โรงเรียนสังกัด  สพป.มหาสารคาม เขต 2  อำเภอวาปีปทุม จำนวน 5 โรงเรียน
      • โรงเรียนชุมชนบ้านงัวบา
      • โรงเรียนบ้านโพธิ์ชัย
      • โรงเรียนบ้านหนองข่า
      • โรงเรียนบ้านนาเลา
      • โรงเรียนบ้านหนองดู่ม่วง
    2. โรงเรียนสังกัด  สพป.มหาสารคาม เขต 2  อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จำนวน 7 โรงเรียน
      • โรงเรียนอนุบาลพยัคฆภูมิพิสัย 
      • โรงเรียนบ้านดอนหมี
      • โรงเรียนบ้านนาค่าย
      • โรงเรียนขี้เหล็ก
      • โรงเรียนบ้านหนองจานบุลาน
      • โรงเรียนบ้านขามเรียน
      • โรงเรียนบ้านหนองโพธิ์ (อำเภอนาเชือก)

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ

  1. ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณธรรม มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน เน้นการพัฒนาโรงเรียนทั้งด้านวิชาการ และด้านคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน
  2. ครูมีความเข้าใจในกระบวนการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ รักและเอาใจใส่นักเรียนอย่างใกล้ชิด
  3. นักเรียนมีความมุ่งมั่นในการทำงาน รู้จักทำงานเป็นทีม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี กล้าแสดงออกและมีสภานักเรียนที่เข้มแข็ง
  4. ผู้นำชุมชนทุกฝ่าย ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ด้วยดี ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ให้ความร่วมมือเข้าร่วมกิจกรรม “บ้านอุ่นรัก” เพิ่มขึ้น
  5. หน่วยงานต้นสังกัด ส่งเสริม สนับสนุน ยกย่อง ให้โรงเรียนเป็นต้นแบบการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ระดับเขตพื้นที่การศึกษาฯ
ความสำเร็จที่โดดเด่นด้านที่ 2 : โครงงานสานฝันปั้นดาวสู่เดือน (ฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอย)

ผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

  1. นักเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดีขึ้น จากช่วงสถานการณ์โควิดที่นักเรียนเรียนแบบ Online ทำให้อยู่กับตนเองตลอดวัน ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ปกครองขาดการดูแล หลังจากเปิดเรียนนักเรียนมีพฤติกรรมขาดความสนใจผู้อื่น ไม่ใส่ใจร่วมกิจกรรมโดยเฉพาะกิจกรรมกลุ่มในชั้นเรียน และชอบใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างเรียน ครูจึงต้องหาเทคนิควิธีการมาใช้ในการปรับการเรียนการสอนเพิ่มบทบาทให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้ร่วมกิจกรรมมากขึ้นจนสามารถปรับพฤติกรรมได้ นักเรียนใส่ใจในการทำงานกลุ่มและทำงานที่ได้รับมอบหมายดีขึ้น
  2. นักเรียนให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อส่วนรวม รู้บทบาทของการทำงานเป็นทีม ตั้งใจทำกิจกรรมโรงเรียน เช่น ดูแลเขตพื้นที่รับผิดชอบ ดูแลทำความสะอาดห้องเรียน ตั้งใจเรียน เคารพกฎระเบียบของห้องเรียน ปฏิบัติตามระเบียบของทางโรงเรียน
  3. นักเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของตน เป็นผู้นำที่ดี และเป็นผู้ตามที่ดี
  4. นักเรียนมีทักษะการสื่อสารดีขึ้น สามารถพูดและเขียนสื่อสารได้เข้าใจ ตรงตามจุดมุ่งหมาย ใช้ภาษาพูดและภาษากายได้ดีขึ้น มีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ และมีจิตอาสาช่วยเหลืองานผู้อื่นโดยไม่ได้ร้องขอ
  5. นักเรียนตั้งใจเรียน เอาใจใส่ต่อการเรียนดีขึ้น ส่งงานตรงตามเวลา
  6. นักเรียน “กลุ่มดาว” (กลุ่มนักเรียนที่ต้องได้รับการฟื้นฟู) รู้จักปรับตัวเข้ากับผู้อื่น กล้าแสดงออก และใกล้ชิดกับครูมากขึ้น
  7. นักเรียนรุ่นพี่ดูแลเอาใจใส่รุ่นน้อง เสียสละเวลาสอนเสริมให้กับน้องกลุ่มดาว และกลุ่มปกติที่สนใจ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่น้องๆ
  8. เกิดการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศในชั้นเรียน นักเรียนมีความสุข สนุกกับการเรียน มีความรักสามัคคีกันเพิ่มขึ้น มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
  9. ผู้ปกครองพึงพอใจในการเปลี่ยนพฤติกรรมในทางดีขึ้น เพิ่มการดูแลเอาใจใส่นักเรียนมากขึ้น ให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนด้วยดี

การดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวัง

  1. คณะครู – คณะกรรมการสภานักเรียน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุของปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหา ซึ่งพบว่า นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษามีปัญหาถดถอยทางการเรียนรู้สูงกว่าระดับมัธยมศึกษา พฤติกรรมที่พบมากคือ นักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียน ขาดความสนใจผู้อื่น เอาแต่ใจตนเอง และบางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าวชอบรังแกผู้อื่น
  2. ประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหา  โดยจัดอบรมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น    ร่วมกันศึกษาเทคนิค วิธีการแก้ปัญหาตามหลักวิชาการโดย
    • ศึกษาหลักจิตวิทยาเด็กในแต่ละช่วงวัยของ อิริค อิริคสัน
    • ศึกษาทฤษฎี พัฒนาการทางจริยธรรมของ ลอเรนส์ โคเบิร์ก
      เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวคิด และเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพบริบทของนักเรียน โดยเลือกวิธีการเริ่มพัฒนาขั้นต้นจากผู้อยู่ใกล้ชิดในชั้นเรียน เริ่มจากกิจกรรมประจำวัน
  3. ร่วมกันกำหนดกรอบการปฏิบัติและวิธีการปฏิบัติ ระยะปลูกฝังจริยธรรมพื้นฐานจากง่ายๆ สู่ระดับสูงขึ้น โดยครูประจำชั้น ครูประจำวิชาของแต่ละชั้นเรียน เลือกวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพนักเรียน 
  4. ครูประจำชั้น พิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยในชั้นเรียน โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม (แยกโดยไม่เปิดเผย) 
    • “กลุ่มดาว” คือ นักเรียนที่ต้องได้รับการฟื้นฟู
    • “กลุ่มเดือน” คือ กลุ่มนักเรียนที่มีพฤติกรรมการเรียนปกติ
  5. ครูปรับการเรียนการสอน โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนกลุ่มดาวได้แสดงความสามารถมากที่สุด  มอบหมายบทบาทหน้าที่สำคัญในชั้นเรียน เสริมแรงด้วยคำชมเชย ยกย่อง เอาใจใส่ใกล้ชิดเป็นพิเศษ เปลี่ยนบทบาทให้เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี การทำกิจกรรมในชั้นเรียนนักเรียนกลุ่มดาวจะหมุนเวียนกันทำงาน เช่น   บทบาทการเป็นหัวหน้ากลุ่ม บทบาทการเป็นผู้ดูแลผู้อื่น บทบาทการเป็นผู้ช่วยเหลือครู เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน
  6. คณะกรรมการสภานักเรียน ช่วยสนับสนุนโดยเสริมกิจกรรมด้านการเรียน คือกิจกรรม “พี่ช่วยน้องเรียนเขียนอ่าน” โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียน วันละ 15-20 นาที สอนพิเศษน้องกลุ่มดาว และกลุ่มปกติ    เช่น พาน้องอ่าน ชวนน้องเขียน เชิญน้องฟังเล่านิทาน
  7. ครูประจำชั้นติดตาม ประเมินผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน โดยการสังเกต และจากผลการเรียน การส่งงาน การร่วมกิจกรรม
  8. รายงานผลการทดลอง ต่อที่ประชุมประจำเดือน สังเคราะห์วิธีการที่ประสบผลสำเร็จ นำมาเป็นแนวทางการช่วยเหลือดูแลต่อไป